โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษา ภายในตามเกณฑ์ AUN-QA V.4.0 ระดับหลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ ประจำปีการศึกษา 2565 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และรศ.ดร.วิเชียร ชุติมาสกุล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นคณะกรรมการตรวจประเมินฯ
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ เป็นหลักสูตรแห่งความภาคภูมิใจของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ที่มีความพร้อมและมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการเรียนทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติอย่างครบถ้วน มีคุณภาพและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และเกณฑ์มาตรฐานเครือข่ายมหาวิทยาลัย (AUN-QA) โดยหลักสูตรฯ ได้บูรณาการการจัดการเรียนการสอนร่วมกับการปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย อาทิ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลปัว โรงพยาบาลจุฬารัตน์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นต้น ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในการดูแลผู้มารับบริการตรวจอัลตราซาวด์ และปฏิบัติงานจริงในเวรนอกเวลาราชการ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ภายใต้การควบคุมของรังสีแพทย์และนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์เรียนรู้งานที่เกี่ยวข้องกับด้านอัลตราซาวด์ที่อยู่นอกเหนือจากการปฏิบัติงานเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐบาล เช่น การบริหารงานอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับอัลตราซาวด์ พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะความเป็นครูให้กับผู้เรียนผ่านการให้บริการวิชาการใน “โครงการทุนเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมายุครบ 60 พรรษา เพื่อพัฒนานักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล” ซึ่งมีการจัดการอบรมให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศเป็นประจำทุกเดือน โดยโครงการฯ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มีทักษะพื้นฐาน ร่วมสอนทักษะการทำอัลตราซาวด์ให้กับแพทย์ผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อเสริมศักยภาพความเป็นครูของบัณฑิตในอนาคต นอกจากนี้หลักสูตรฯ ยังมีระบบอัลตราซาวด์ทางไกลสำหรับการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาและการให้บริการระบบอัลตราซาวด์ทางไกล (Tele-ultrasound system) แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนศึกษาความรู้เพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกรณีศึกษาของผู้ป่วยจากพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
ในการตรวจประเมินฯ ครั้งนี้ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ขอขอบคุณคณะกรรมการตรวจประเมินฯ คณะผู้บริหารคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ให้คำแนะนำ และร่วมเป็นเกียรติในการนำเสนอรายงานการประเมินตนเอง พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น เยี่ยมชมสถานที่ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนให้คำแนะนำแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพแบบป้อนกลับ (Reflection) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรฯ ในปีการศึกษา 2566 ต่อไป